


หลักการและเหตุผล
ประเทศไทย มีพระมหากษัตริย์ปกครองมาแต่โบราณกาล เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมานับแต่สมัยสุโขทัย ชาติไทยของเรามีวิวัฒนาการมาตั้งแต่เริ่มรวมชาติรวมแผ่นดิน การก่อร่างสร้างเมืองตั้งแต่อดีตจนมาเป็นประเทศชาติทุกวันนี้ก็เพราะบรรพบุรุษในอดีตที่ยอมอุทิศตนและเสียสละแม้กระทั่งชีวิตภายใต้การนำขององค์พระมหากษัตริย์ไทยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่อยู่ในหัวใจของประชาชน เป็นสถาบันที่เคารพสักการะเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงชนชาวไทยทุกๆ คน เป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุดของประเทศ การที่ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองและมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ดำรงเอกราชมาได้จนทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ที่ทรงนำพาประเทศหลีกพ้นอันตราย มาด้วยวิเทโศบายอันชาญฉลาด ทรงปกครองแผ่นดินด้วยหลักทศพิธราชธรรม นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงชนชาวไทย ทรงทะนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งยังคงสืบทอดเป็นมรดกอันล้ำค่า นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเอกราชที่มีอารยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีงามมาจนทุกวันนี้ พระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็นผู้นำชาติทั้งในยามศึกสงคราม และยามสงบ ทรงปกป้องคุ้มครองภยันตรายแก่ประชาอาณาราษฎร์ แม้จะทรงมีพระราชอำนาจอย่างล้นพ้น แต่ก็ทรงใช้เพื่อประโยชน์ของทวยราษฎร์ และความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชน และอาจกล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในการสร้างความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติเสมอมา ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดทูน ยกย่อง และประกาศเกียรติคุณขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ให้เป็นประจักษ์ต่ออนุชนรุ่นหลัง กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบก จึงได้มีแนวความคิดจะดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ขึ้น เพื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ ๗ พระองค์ สำหรับเป็นสถานที่เคารพสักการะ เป็นอนุสรณ์แห่งความรำลึกและสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประเทศชาติ
วัตถุประสงค์การจัดสร้าง :
๑. เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตราบจนทุกวันนี้
๒. เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ในโอกาสที่มาเยือนกองทัพบกอย่างเป็นทางการ
๒.๓ เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สำหรับให้กำลังพลและครอบครัวของกองทัพบก รวมถึงนักเรียนทหาร ตลอดจนประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เข้ามาทัศนศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
๓. หน่วยรับผิดชอบโครงการ กองทัพบก เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการจัดทำ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในการสนับสนุนการดำเนินงาน
๔. พื้นที่การจัดสร้างและกรอบแนวคิดการจัดสร้าง : กองทัพบก จะดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ภายในพื้นที่ของกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๒๒๒ ไร่เศษ ซึ่งองค์ประกอบภาพรวมของอุทยานราชภักดิ์ จะมีโครงสร้างหลักที่สำคัญ จำนวน ๓ ส่วนหลัก ตามผนวก ก ประกอบด้วยส่วนที่ ๑ : พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์ โดยพิจารณาเลือกพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระนามแต่ละพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรูปแบบของพระบรมราชานุสาวรีย์ จะจัดสร้างในลักษณะพระอิริยาบถทรงยืน หล่อด้วยโลหะสำริดนอก ความสูงประมาณ ๑๓.๙ เมตร ประดิษฐานบนแท่นฐาน ความสูง ๘ เมตร ความกว้าง ๔๓.๒๐ เมตร ความยาว ๑๓๔.๘๐ เมตร ใช้พื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ ตามผนวก ขส่วนที่ ๒ : ลานอเนกประสงค์ มีเนื้อที่ประมาณ ๙๑ ไร่ ใช้สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพ และรองรับบุคคลสำคัญจากต่างประเทศในโอกาสที่มาเยือนกองทัพ ส่วนที่ ๓ : อาคารพิพิธภัณฑ์ โดยการค้นคว้า รวบรวม และจัดทำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และนำมาจัดทำเป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ ซึ่งจะจัดสร้างภายในบริเวณพื้นที่ด้านล่างของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พื้นที่ส่วนที่เหลือจำนวน ๑๒๖ ไร่ จะเป็นสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ และการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พื้นที่ทั้ง ๓ ส่วนทั้งนี้ กองทัพบก จะประสานขอความร่วมมือจากผู้ชำนาญการจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบพระบรมรูปต้นแบบสมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม ทั้ง ๗ พระองค์ สำหรับนำไปใช้สร้างเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ รวมถึงการช่วยเหลือในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนคำแนะนำการก่อสร้างในภาพรวม เพื่อให้การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์เป็นไปอย่างถูกต้อง งดงาม และสมพระเกียรติ
๕. กรอบระยะเวลาดำเนินงาน : โดยแบ่งกรอบดำเนินงานดังนี้๕.๑ การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์ และการก่อสร้างลานอเนกประสงค์ ตั้งแต่เดือน พ.ย.๕๗ – ส.ค.๕๘ รวมระยะเวลา ๑๐ เดือน๕.๒ การจัดทำนิทรรศการแสดงพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในห้องพิพิธภัณฑ์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.๕๘ เป็นต้นไป หรือภายหลังจากการก่อสร้างฐานและพระบรมราชานุสาวรีย์เสร็จเรียบร้อย
๖. งบประมาณการจัดสร้าง : สำหรับงบประมาณในการจัดสร้าง จะเป็นลักษณะของการประสานความร่วมมือ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมบริจาคเงินสมทบทุนการจัดสร้าง
๗. ผลที่คาดจะได้รับทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการจัดสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าอุทยานราชภักดิ์แห่งนี้ จะเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่มีคุณค่าทางด้านต่างๆ ดังนี้
๗.๑ เป็นสถานที่ประดิษฐ์พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน ๗ พระองค์ โดยถือเป็นองค์แทนพระมหากษัตริย์แต่ละสมัย ตั้งแต่กรุงสุโขทัย จนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณ และเป็นที่สักการะแด่องค์พระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตราบจนทุกวันนี้
๗.๒ เป็นสถานที่สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ในโอกาสที่มาเยือนกองทัพบกอย่างเป็นทางการ
๗.๓ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สื่อให้เห็นความเป็นมาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาติกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้กำลังพลของกองทัพบก และนักเรียนทหาร ตลอดจนประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เข้ามาทัศนศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เกิดความจงรักภักดี และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย